วันพฤหัสบดีที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

น้ำตก 7 สาวน้อย

น้ำตกเจ็ดสาวน้อย
ที่ตั้ง
   
อุทยานแห่งชาติน้ำตกเต็ดสาวน้อย (สำรวจ) มีพื้นที่ ครอบคลุมในท้องที่ อำเภอมวกเหล็ก อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี และอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา มีเนื้อที่ประมาณ 29,755 ไร่ โดยอยู่ในเขตจังหวัดสระบุรี 27,210 ไร่ และจังหวัดนครราชสีมา 2,245 ไร่
ความเป็นมา
    
เดิมคือวนอุทยานน้ำตกเจ็ดสาวน้อย ซึ่งได้มีการสำรวจและจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2523 โดยกองบำรุง กรมป่าไม้ มีเนื้อที่ในการจัดตั้งครั้งแรก 540 ไร่ ต่อมาในปี พ.ศ.2546 ได้มีการสำรวจพื้นที่ผนวกเพิ่มเติมเพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ให้ความเห็นชอบและให้มีการเข้าควบคุมดูแลพื้นที่เพื่อเตรียมการในการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติต่อไป

    สำหรับชื่อน้ำตกเจ็ดสาวน้อยได้มาจากชื่อหมู่บ้านที่อยู่ด้านทิศเหนือของน้ำตกที่มีชื่อว่า "บ้านสาวน้อย" เมื่อจากหน้าที่ป่าไม้ได้เข้ามาสำรวจพื้นที่เพื่อจัดตั้งวนอุทยานได้พบน้ำตกมีจำนวน 7 ชั้น ในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว ดังนั้นจึงได้ตั้งชื่อน้ำตกว่า "น้ำตกเจ็ดสาวน้อย" ตามชื่อหมู่บ้านและจำนวนชั้นของน้ำตกที่ค้นพบ

                                                                  ภาพ น้ำตกเจ็ดสาวน้อย

เกาะสมุย

    ในต้นสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกาะสมุยเป็นเมืองส่งส่วยอากร ขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช โดยมีที่ว่าการเมืองอยู่ที่บ้านดอนแตง ใกล้วัดประเดิม หมู่ที่ 1 ตำบลหน้าเมืองอยู่ทางทิศใต้ของเกาะสมุยมีข้อความปรากฏในหนังสือ "ชีวิวัฒน์" พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงนิพนธ์ไว้เป็นทำนองรายงานการเสด็จ ตรวจราชการหัวเมืองปักษ์ใต้ ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปีวอก พ.ศ. 2427 ได้กล่าวถึงเกาะสมุยในขณะนั้นใจความตอนหนึ่งว่า
" ในหมู่บ้านเกาะสมุยนี้ ถ้าจะประมาณโรงเรือนราษฎรที่ตั้งอยู่ จะเป็นไทยประมาณ 400 หลังเศษ จีน 100 หลังเศษ เป็นจำนวนคนซึ่งประจำอยู่ ณ เกาะนั้น ไทยประมาณ 1,000 คนเศษ จีนสัก 600 คนเศษ คิดทั้งคนจรไปมาตั้งบ้างไปบ้างจะเป็นคนรวมประมาณถึง 2,000 คน แต่คนในเกาะสมุยนั้น มากๆ น้อย ๆ เป็นคราว ๆ เป็นต้นว่าถึงฤดูสักเลก คนหลบหนีมา
อยู่เกาะสมุยเป็นอันมาก ถ้าจะคิดในเวลาอย่างมากจะเป็นคนประมาณถึง 5,000-6,000 คน คนไทยนั้นเป็นคนชาวนอก กริยาน้ำใจและเสียสละเป็นชาวนอก กริยา น้ำใจเสียสละ เป็นชาวนอกทั้งสิ้น มักจะบิดเบือน พูดจาไล่ไม่จนและเป็นคนเกรงกลัวอาญานายกดขี่
เป็นต้น ถ้าจะถามสิ่งใดก็พูดจาอ้อมค้อมวนเวียน ปิดบัง เป็นธรรมดา หาจริงยาก.....พวกนั้นมักจะเป็นชาติไหหลำทั้งสิ้น.....ฯลฯ "
เมื่อเกาะสมุยเป็นเมืองส่งส่วยแก่เมืองนครศรีธรรมราช เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ก็ส่งคนมาปกครองเกาะสมุย ความอีกตอนหนึ่งในชีวิวัฒน์กล่าวว่า
" เกาะสมุยนี้ มีตำแหน่งผู้ว่าราชการเป็นพระคนหนึ่ง คือนายฉิม ญาติพระยานครที่ตายเสียแล้วในเวลาบัดนี้ไม่มีตัวพระสมุยผู้ว่าราชการ มีแต่ปลัดอยู่คนหนึ่งเรียกว่า หลวงสมุยเป็นคนแก่อายุมาก" ชาวเกาะสมุยมักจะเรียกเจ้าเมือง เกาะสมุยว่า"ตาหลวงหมุย" และการปกครองสมัยเดิม เจ้าเมืองแต่ละคนจะอยู่จนแก่เฒ่าและเมื่อตายไปแล้วจะแต่งตั้งบุตรชายเป็นเจ้าเมืองแทนต่อไป
ในปี พ.ศ. 2427 ครั้งเมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาภานุพันธุ์วงศ์วรเดช ได้มาตรวจราชการหัวเมืองปักษ์ใต้ทำให้ทราบว่า
ชาวเกาะสมุยไม่อยากอยู่ภายใต้การปกครองของเมืองนครศรีธรรมราชเพราะถูกกดขี่ข่มเหง ทำให้ชาวเกาะสมุยเกรงอาญาเจ้าพระยานคร ดังนั้นชาวเกาะสมุยจึงได้ร้องทุกข์กับ สมเด็จฯ กรมพระยาภานุพันธุ์วงศ์วรเดช ต่อมาในคราวเดียวกันพระองค์ทรงแวะเยี่ยมเยียนที่เมืองไชยา อันเป็นเมืองสำคัญแห่งหนึ่งในสมัยนั้น ได้ทรงพบปะกับพระยาไชยา (ขำ ศรียาภัย) เจ้าเมือง (ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาวจีสัตยารักษ์) ก็ทรงชอบพออัธยาศัยของพระยาไชยามาก ด้วยเหตุนี้เองจึงได้กราบทูลให้ พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบถึงความต้องการของชาวเกาะสมุย จึงทำให้เกาะสมุยมาขึ้น
กับเมืองไชยาด้วยเหตุนี้เอง
ต่อมาเมื่อปีพ.ศ. 2440 (ร.ศ. 116) ได้มีการจัดระบบการปกครองท้องถิ่นขึ้นใหม่ โดยยุบรวมหัวเมืองต่าง ๆ ตั้งเป็นมณฑล จังหวัด และอำเภอเมืองเกาะสมุยกับเกาะพะงันถูกยุบรวมเป็นอำเภอเดียวกันและได้ส่งหลวงพิพิธอักษร(สิงห์ สุวรรณรักษ์)ไปเป็นนายอำเภอคนแรกของเกาะสมุย
หลวงพิพิธอักษร เป็นทั้งนักบริหารและนักปกครองและนักพัฒนาที่ดี จึงเป็นที่ชื่นชอบของชาวเกาะสมุยมากและได้ขนานนาม ท่านว่า "พ่อนาย" ท่านได้ย้ายที่ว่าการ จากบ้านดอนแตงมาตั้งที่บ้านหน้าทอน หมู่ที่ 3 ตำบลอ่างทอง (อันเป็นที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอปัจจุบันนี้) ด้วยเห็นว่าที่บ้านหน้าทอน อยู่ใกล้กับที่ทำการของเมืองไชยา มีอ่าวจอดเรือที่ดีและท่านได้สละที่ดิน ส่วนตัว จำนวน 6 ไร่ ให้เป็นที่ตั้งที่ว่าการ อำเภอในปี พ.ศ.2449 แต่ตัวอาคารที่ว่าการอำเภอเป็นแบบสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2468
หลวงพิพิธอักษร ได้รับพระราชทานยศเป็น พระยาเจริญราชภักดี ดำรงตำแหน่งนายอำเภอตั้งแต่ พ.ศ.2440-พ.ศ.2471
รวมเวลานานถึง 31 ปี จึงได้ลาออกรับบำนาญและถึงแก่กรรมเมื่ออายุ 84 ปี ในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2482
ครั้นเมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ.2505 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถและสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้เสด็จประพาสเกาะสมุย และได้ทรงปรารภถึงความเก่าแก่ ของอาคารที่ว่าการอำเภอและทรงเห็นว่าสมควรจะสร้างใหม่ได้แล้วดังนั้นทางอำเภอจึงได้ของบประมาณไปยังส่วนกลางจนกระทั่งปี พ.ศ.2514 ได้รับงบประมาณ เป็นเงิน 300,000 บาท (สามแสนบาทถ้วน)โดยให้สร้างแบบอาคารไม้สองชั้นทางอำเภอพิจารณาเห็นว่าเกาะสมุยเป็นสถานที่ท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศไปเที่ยวปีละมาก ๆ จึงได้ขอทบทวนใหม่ในปี พ.ศ.2516 และได้รับงบประมาณในปี พ.ศ. 2518 และสร้างเสร็จเรียบร้อยในปี พ.ศ.2519 ลักษณะของอาคารเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กตัวตึก 2 ชั้น
การคมนาคมบนเกาะสมุยในสมัยก่อนปี 2510 เป็นไปด้วยความยากลำบากท่านนายอำเภอดิลก สุทธิกลม จึงดำริที่จะปรับปรุงถนนบนเกาะสมุยให้ดีขึ้น และได้ตัดถนนให้รอบเกาะซึ่งแต่เดิมยังไม่รอบ ตรงจุดบริเวณอ่าวละไมไปสู่ตำบลบ่อผุดโดยจะต้องข้ามภูเขาลูกหนึ่ง คือ เขาหมาแหงน ภูเขาลูกนี้เคยเปรียบเสมือนหนึ่งปราการยักษ์ที่แยกชาวตำบลมะเร็ตกับตำบลบ่อผุดให้อยู่ห่างไกลกัน เพราะว่าถนนรอบเกาะที่สร้างกันมาเรื่อยๆ นั้น เมื่อมาถึงเขาหมาแหงนก็ไม่สามารถจะสร้างถนนผ่านไปได้เพราะไม่สามารถพิชิตภูเขานี้ได้ ดังนั้นเมื่อก่อนถนนรอบเกาะสมุยจึงไม่รอบเกาะ ทางด้านเหนือก็ผ่านมาทางตำบลแม่น้ำเรื่อยมาจนถึงตำบลบ่อผุดก็สุดทาง ส่วนทางด้านใต้มาจนถึงตำบลมะเร็ตจดเชิงหมาแหงน ก็หมดทางเช่นกันชาวมะเร็ตและชาวบ่อผุด
จึงดูห่างไกลกันเหลือเกินทั้ง ๆ ที่อยู่ติดกันแท้ ๆ
มีผู้ที่พยายามตัดถนนข้ามเขาหมาแหงนนี้หลายครั้ง ทั้งนายอำเภอคนก่อน ๆ และทั้งพระภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งมีนามว่าพระครูสมุห์เลียบ ซึ่งชาวเกาะสมุยเรียกติดปากว่า "พระนักทำ" ซึ่งท่านพระครูองค์นี้ได้ช่วยสร้างถนนทำประโยชน์ให้แก่
ชาวเกาะสมุยมาก เมื่อท่านลงมือทำอะไรก็มีชาวบ้านมาช่วยกันมากมาย เมื่อมีใครต่อใครพยามสร้างทางข้ามเขาหมาแหงนหลายครั้งไม่สำเร็จ ท่านก็ลงมือทำบ้างมีชาวบ้านทั้งจากตำบลมะเร็ตและตำบลบ่อผุดมาช่วยกันมากมายพยายามตัดทางข้ามเขาหมาแหงน อยู่นานถึง 4 เดือนก็ไม่สำเร็จต้องเลิกไป ปล่อยให้เขาหมาแหงนเป็นอุปสรรคขวางกั้นการไปมาต่อไป
ต่อมาเมื่อปลายปี พ.ศ.2510 อำเภอเกาะสมุยได้รับความช่วยเหลือจากคณะกรรมการพัฒนาภาคใต้อันมี ฯ พณ ฯพันเอกถนัด คอร์มัน เป็นประธานคณะกรรมการ ได้มอบรถแทรกเตอร์ ที.ดี.4 ให้เกาะสมุยหนึ่งคัน พอถึงเกาะสมุย นายอำเภอดิลก สุทธิกลม (สมัยนั้น) ได้นำรถแทรกเตอร์คันนั้นไปปรับถนน บริเวณเขาหมาแหงนทันที
ทั้งนี้โดยได้นิมนต์ พระมหาพิมล ฐานสุนทโร เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ต.ตลิ่งงามไปร่วมงานสร้างถนนนี้ด้วย เพราะพระมหาพิมล เป็นที่เคารพขอชาวเกาะสมุยมาก เมื่อท่านร่วมมือด้วยชาวบ้านก็มาช่วยกันเป็นจำนวนมาก จากนั้นการตัดทางเชื่อมตำบลมะเร็ตกับตำบลบ่อผุดโดยผ่านเขาหมาแหงนก็เริ่มขึ้น ตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2510 เป็นต้นมา งานตัดถนนผ่านเขาหมาแหงนนี้เต็มไปด้วยความยากลำบาก เพราะต้องระเบิดภูเขาจำนวนมาก
ในปี 2512 เมื่อกรป.กลาง จัดส่งหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ ออกปฎิบัติการที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงได้รับการขอร้องจากนายอำเภอ ให้สนับสนุนเครื่องมือในการทำทางก่อสร้างถนนรอบเกาะสมุย เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนถ่ายสินค้าไปยังท่าเรือซึ่ง กรป.กลาง ได้จัดส่งชุดเครื่องมือหนัก ประกอบด้วยรถเครื่องจักรทุ่นแรง จำนวน 5 คัน ไปดำเนินการปรับปรุงขยายผิวจราจร ให้ แต่การปรับปรุงและขยายผิวจราจรก็ดำเนนไปได้ไม่เร็วเท่าที่ควร เพราะเครื่องมือไม่เพียงพอ
วันที่ 29 เมษายน 2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จประพาสเกาะสมุย เป็นการส่วนพระองค์อีกครั้งหนึ่ง ณ บริเวณศาลาคอย อ่าวเฉวง
ต่อมาในปลายปี 2515 ได้เกิดอุทกภัยกระหน่ำภาคใต้อย่างรุนแรง ในหลายจังหวัดโดยเฉพาะเกาะสมุย ได้รับความเสียหายอย่างหนัก มีเรือล่มถึง23 ลำ บ้านเรือนราษฎรพังเสียหาย 581 หลัง ต้นมะพร้าวโค่นล้มประมาณ 57,000 ต้นและต้นทุเรียนกว่า 8,000 ต้น คิดค่าเสียหายทั้งสิ้นประมาณ 31 ล้านบาท เป็นเหตุให้ภาวะทางเศรษฐกิจของเกาะสมุยทรุดตัวลงเป็นอย่างมาก กรป.กลาง จึงได้จัดส่งชุดทหารช่างก่อสร้าง ออกเดินทางมายังเกาะสมุยในต้นปี 2516 เพื่อปฎิบัติการฟื้นฟูและก่อสร้างเส้นทางรอบเกาะสมุย โดยเริ่มปฎิบัติการฟื้นฟูเกาะสมุยและก่อสร้างเส้นทางโดยทันที ซึ่งปรากฎว่าการปฎิบัติงานในระยะเริ่มต้นเป็นไปได้ไม่รวดเร็วเท่าที่ควร เนื่องจากสภาพภูมิอากาศ คือมีฤดูฝนถึง 6 เดือน และเป็นฝนชนิดที่ตกอย่างไม่มีเค้า บางวันไม่สามารถจะปฎิบัติงานได้ ยิ่งกว่านั้นการตัดถนนผ่านภูมิประเทศที่เป็นภูเขาและโขดหินจำเป็นต้องอาศัยการระเบิดหินเป็นส่วนใหญ่ แต่เจ้าหน้าที่ทุกคนก็มิได้ท้อถอย คงพยายามปฎิบัติงานไปโดยเต็มความสามารถ อย่างไม่หยุดยั้ง
ในปี พ.ศ. 2516 พลอากาศเอกทวี จุลทรัพย์ ได้สั่งให้หน่วยทหารช่างก่อสร้างที่ 4 ซึ่งมีเครื่องมือที่สมบูรณ์กว่าดำเนินการทดแทน ชุดทหารช่างก่อสร้างเกาะสมุยชุดเดิม หน่วยทหารช่างก่อสร้างที่ 4 ได้เคลื่อนย้ายเครื่องมือหนักเข้าที ตั้งบนเกาะสมุยโดยทันที และเริ่มการก่อสร้างถนนตั้งแต่เดือนธันวาคม 2516 เป็นต้นมา ถนนรอบเกาะสมุยที่หน่วยทหารช่างก่อสร้างที่ 4 ดำเนนการสร้างนี้ มีระยะทางยาวทั้งสิ้น 50.228 กิโลเมตร เป็นถนนมาตรฐานอัดดินแน่นเขตทางกว้าง 12 เมตร ซึ่งมีผิวจราจรกว้าง 6 เมตร กับไหล่ทางกว้างอีกข้างละ 1 เมตร ได้เริ่มตั้งต้นก่อสร้างจากหน้าที่ว่าการอำเภอเกาะสมุยลงไปทางใต้
ผ่านพื้นที่ตำบลอ่างทอง, ตำบลลิปะน้อย, ตำบลตลิ่งงาม, ตำบลหน้าเมืองจนถึงบ้านหัวถนน แล้ววกไปทางทิศตะวันออกผ่านตำบลมะเร็ตไปช่องเขาหมาแหงนทางทิศตะวันออก ต่อไปยังอ่าวท้องตะเคียน ช่องบุญตา พุ่งขึ้นไปทางทิศเหนือ ถึงตำบลบ่อผุด แล้วเลยไปทางทิศเหนือของเกาะสมุย ผ่านตำบลแม่น้ำ ไปเขาแหลมใหญ่ แล้วจึงวกกลับมาบรรจบกันกับจุดเริ่มต้น ณ ที่ว่าการอำเภอเกาะสมุยซึ่งอยู่ที่ตำบลอ่างทอง นับว่าถนนสายนี้ตัดผ่านทุกตำบล โดยเฉพาะทางด้านทิศใต้กับทิศเหนือตัดผ่านหมู่บ้านริมทะเล ที่มีทิวทัศน์อันสวยสดงดงาม โดยตั้งชื่อถนนรอบเกาะสมุยว่า "ถนนทวีราษฎร์ภักดี"
ตามโครงการ และแผนที่ได้สำรวจ และประมาณการไว้นั้น ถนนสายนี้จะต้องสร้างสะพาน 15 แห่ง เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 สะพาน สะพานไม้ 12 สะพาน รวมความยาวของสะพานทั้งสิ้น 190 เมตร งานวางท่อระบายน้ำ 160 แห่ง และมีงานระเบิดหินบริเวณช่องเขาหมาแหงน ระหว่างท้องตะเคียน ถึงบ้านเฉวงน้อย อีกระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร
การสร้างทางรอบเกาะสมุยนี้มีอุปสรรคอยู่หลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกี่ยวกับสภาพดินฟ้าอากาศในภาคใต้ ซึ่งมีฝนตกอยู่เสมอเกือบตลอดปี นอกจากนั้นเส้นทางนี้ยังมีแหล่งลูกรังจำกัด ต้องขนลูกรังในระยะทางไกลประกอบกับเส้นทางที่ตัดผ่านเขาหมาแหงนเลียบชายฝั่งทะเล เป็นบริเวณที่ยากแก่การทำถนนเพระต้องใช้ดินระเบิดทำการระเบิดหินก้อนใหญ่ ๆ หลายลูกติดกันในระยะทางยาวเกือบ 3 กิโลเมตร ในการก่อสร้างถนนรอบเกาะสมุย ของหน่วยทหารช่างก่อสร้างที่ 4 แม้จะประสบกับอุปสรรคหลายประการ แต่ก็ได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่น และประชาชนชาว เกาะสมุยเป็นอย่างดีในทุกๆ ด้านตลอดมา ทำให้การปฏิบัติงานสามารถฟันฝ่าปัญหาและอุปสรรค ต่าง ๆ ลุล่วงไปด้วยดี


                                                    
                                                                    ภาพ เกาะสมุย ปัจจุบัน